ผ้าเช็ดแว่นจากเมืองแทกู
Arty & Fern เลือกผลิตผ้าเช็ดแว่นทุกรุ่นกับผู้ผลิตผ้าไมโครไฟเบอร์คุณภาพดีที่สุดในโลก อาจฟังดูเกินจริงแต่นี่คือเรื่องจริง ผ้าเช็ดแว่นของเรามาจากผู้ผลิตในเมือง Daegu ประเทศเกาหลี ซึ่งที่นี้ผลิตผ้าไมโครไฟเบอร์ให้กับแบรนด์แว่นตาและบริษัทเลนส์ชั้นนำทั่วโลกกว่า 100 ประเทศ ด้วยมาตรฐานการผลิตที่ดีและเทคโนโลยีที่ทันสมัย บวกกับประสบการณ์เฉพาะทางเรื่องผ้าของที่นี่ ทำให้สินค้าทุกชิ้นมีคุณภาพและตอบโจทย์การใช้งานได้ดีจริงๆ
Arty & Fern เลือกประเภทผ้าด้วยตัวเอง จากการสัมผัส ทดลองใช้งานจริง ทั้งซักทั้งยืด จนได้ผ้าที่เราพอใจมากที่สุดจากตัวเลือกเป็นร้อยๆ ก็ว่าได้ ซึ่งความหนา-ความแน่นของเส้นใย มีผลกับการใช้งานเเละความคมชัดในการพิมพ์ลายโดยตรง เราเลยตั้งใจเลยตั้งใจเลือกผ้าเช็ดเเว่นที่มีคุณภาพ ให้ผ้าเช็ดแว่นได้ทำหน้าที่ดูแลและทำความสะอาดแว่นของลูกค้าได้ดีที่สุด ( เนื้อผ้าที่ใช้ Composition – POLYESTER 70% NYLON 30% Denier – 120D )
แว่นใหม่ในรูปวาด
“ชอบมาก มีรูปวาดให้ด้วย” คำพูดนี้ Arty & Fern มักได้ยินพร้อมกับเห็นรอยยิ้มของลูกค้าที่มาทำแว่นคัสตอมเมด ,หลังจากที่ตื่นเต้นกับการได้รับแว่นใหม่ ลองเเว่น ดัดแว่นเรียบร้อยแล้ว เราจะมอบ Thank you Card เป็นรูปวาดลูกค้าสวมแว่นใหม่ให้ เป็นงานศิลปะที่แทนคำขอบคุณและเป็นภาพแทนช่วงเวลาที่ลูกค้าได้เจอกับแว่นที่เป็นตัวเองมากที่สุดครั้งแรก
ที่มาของการวาดรูปนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2014 เฟิร์นมักจะวาดรูปลูกค้าเป็นการ์ตูนบนหน้ากล่องพัสดุ ( โดยแอบดูจากรูปโปรไฟล์ใน LINE ) ซึ่งมีลูกค้าหลายคนถ่ายรูปและส่งกลับมาบอกว่าลูกค้าได้ตัดรูปที่กล่องพัสดุเก็บไว้ด้วยเพราะเสียดาย ครั้งหน้าขอให้วาดในกระดาษแทน
มากกว่า 260 ขั้นตอน
ปีแรกที่ทำแว่นคัสตอมเมด มีหลายคนตั้งคำถามกับ Arty & Fern ว่าทำไมแว่นหนึ่งชิ้นใช้เวลาทำนาน มันมีกี่ขั้นตอน? จากคำถามนั้นทำให้เราลองมานั่งนับกันเลย นั่งนับกันจริงๆ จังๆ เราเขียนออกมาในกระดาษโดยเริ่มจากขั้นตอนหลักๆ ( วัดหน้า ออกแบบ ขึ้นบล๊อก ทำหน้าแว่น ทำขาแว่น ประกอบอะไหล่ ขัดงาน ประกอบชิ้นส่วน ดัด ) และแยกย่อยเป็นขั้นตอนที่ละเอียดลงไป รวมแล้วได้ประมาณ 260 ขั้นตอน ซึ่งก็เป็นตัวเลขที่เราตกใจเหมือนกัน
ที่สำคัญกว่านั้นเรายังตอบไม่ได้ว่าขั้นตอนไหนยากและสำคัญที่สุด เพราะทุกขั้นตอนสำคัญและมีผลกับขั้นตอนต่อไปเป็นทอดๆ เช่น ดีไซน์บางดีไซน์มีผลกับการคำนวนตำแหน่งการติดบานพับกับหน้าแว่น เราต้องคำนึงถึงองศาของขาแว่นที่กางออก ซึ่งก็มีผลกับความพอดีกับความกว้างของหน้าแต่ละบุคคลด้วย เป็นต้น
อุปกรณ์หลังเวที
เชื่อไหมว่า ย้อนไปหลายปีหลังจาก Arty & Fern กลับจากการไปศึกษาทำแว่นที่ประเทศฝรั่งเศส เราใช้เวลา 1 ปีเต็มๆ ในการรวบรวมอุปกรณ์ ตามหาวัสดุ เครื่องไม้เครื่องมือและเครื่องจักรที่ใช้ทำแว่น หลายชิ้นหายากเพราะเป็นอุปกรณ์เฉพาะทางจริงๆ ยกตัวอย่างเช่น หัวตัด milling tools / grooving tools ที่ใช้เซาะร่องหน้าแว่น ( สำหรับช่องใส่เลนส์ ) ลองนึกภาพตามกันว่าหัวโลหะมีลักษณะเป็นแท่งเล็กๆ สูงประมาณ 5 ซม. ได้ถูกส่งมาจากหลายประเทศพร้อมๆ กัน จากทั้งในเอเชียและยุโรปให้เราได้ทดลอง สุดท้ายแล้วเราเลือกใช้หัวตัดนี้จากประเทศฝรั่งเศส ซึ่งราคาสูงกว่ากันอย่างที่เรียกว่าเพิ่มเลข 0 ไปหนึ่งตัวสองตัวได้
ถึงจะเป็นอุปกรณ์ที่อยู่หลังเวที แต่เราตั้งใจเลือกมาจริงๆ อาร์ทบอกว่า “ถ้าอยากได้ผลงานละเอียด เครื่องมือก็ต้องละเอียดด้วย”
ดีไซน์แว่นจากไทย ไปเมืองซาบาเอะ
อย่างที่ทราบกันว่านอกจากแว่นคัสตอมเมดแล้ว Arty & Fern มีคอลเลคชั่นแว่นกันเเดดที่เป็นสินค้า Ready to wear ที่เราออกแบบเอง ทดลองทำโปรโตไทป์เอง และสั่งผลิตที่ญี่ปุ่นด้วย ถามว่าทำไมต้อง Made in Japan ด้วยหล่ะ? และ Japan ที่ว่านี้อยู่เมืองไหนกัน?
เราเลือกผลิตแว่นทุกชิ้นใน Siamese Cateye Collection จากเมืองซาบาเอะ, ฟุกุอิ ( Sabae, Fukui ) ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเมืองนี้เป็นเมืองที่เรียกว่า The City of Craftmanship ก็ว่าได้ เพราะเป็นผู้ผลิตแว่นตาที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น และมีชื่อเสียงที่สุดอีกเมืองหนึ่งของโลก ด้วยความเชี่ยวชาญในการผลิตแว่นตามากว่าร้อยปีของเมืองนี้ ทำให้คนใส่แว่นในญี่ปุ่นนั้นมั่นใจในคุณภาพ เพียงแค่ได้ยินคำว่า Sabae ก็ไม่ต้องอธิบายอะไรเพิ่มอีกเเล้ว
นอกจากสตอรี่ของเมืองนี้ ความชอบส่วนตัวที่เรามีกับญี่ปุ่น ก็เป็นอีกเหตุผลที่เราเลือกผลิตแว่นที่นี่ เราชอบความเรียบร้อย เป็นระเบียบวินัย ความขยัน ความสนุกสนานที่ซ่อนไปด้วยวัฒนธรรมหลายๆ อย่าง
ร้านสีขาวราวกับห้องแล็บ
หลายๆ คนบอกว่าที่ร้าน Arty & Fern เหมือนห้องแล็บหรือเหมือนคลินิค เพราะร้านทาสีขาวแถมเต็มไปด้วยอุปกรณ์เเละเครื่องมือเรียงรายเต็มไปหมด ย้อนไปตอนช่วงเริ่มรีโนเวทพื้นที่ตรงนี้ให้กลายเป็นหน้าร้านเเละสตูดิโอทำเเว่น เฟิร์นกับอาร์ทคุยกันว่าร้านมืดๆ เเสงไฟวอร์มๆ น่าจะเท่ห์ดี แต่ด้วยวัสดุที่ใช้ทำเเว่นมีหลายเฉดสี ไหนจะอะไหล่ชิ้นเล็กชิ้นน้อย เช่น น็อต บานพับ และสีเลนส์กันแดดต่างๆอีก มันคงดีกว่าถ้าเราทาสีร้านสีขาว ให้โซนที่นั่งทำเเว่นสว่างๆ ไว้เพื่อจะได้เห็นรายละเอียดต่างๆ ได้ชัด ลูกค้าเองก็จะได้เลือกสีได้ง่ายขึ้นด้วย
แรงบันดาลใจจากอะไรก็ได้
อาร์ทเคยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการหาแรงบันดาลใจในการทำแว่น Arty & Fern ว่า “เรามักจะหาแรงบันดาลใจจากสิ่งอื่นมาเป็นไอเดียในการออกแบบแว่น ทั้งงานศิลปะ สถาปัตยกรรม ดนตรี ธรรมชาติ ไปถึงสิ่งของรอบตัวที่ไม่ใช่แว่นตา นำมาประยุกต์และลดทอนให้มาอยู่ในเเว่น มันจะทำให้งานมีความสดใหม่ สนุกขึ้น และยังคงเล่าเรื่องราวได้”
นอกจากแรงบันดาลใจที่เราเจอเองเเล้ว อีกแรงบันดาลใจที่ทำให้เราดีไซน์แว่นสนุกไม่เเพ้กันคือลูกค้า ทั้งคาเเรกเตอร์ที่ต่างกัน ไปจนถึงความชอบและคลั่งไคล้ในบางสิ่งบางอย่างที่เราเองก็สนุกที่จะทำความรู้จักให้มากขึ้น เพื่อดีไซน์แว่นออกมาให้ได้ เช่น ลายเส้นการ์ตูน หุ่นยนต์กันดั้ม รถวินเทจคันโปรดของคุณพ่อ ทามากอต ตัวการ์ตูนญี่ปุ่น มหาวิหารดูโอโม แมว หางน้องหมาก็มี เป็นต้น
กระดาษหนึ่งแผ่นจากเมืองแว่นตา
Certificate อาจเป็นแค่กระดาษหนึ่งแผ่น แต่มันก็เป็นรูปธรรมที่เล่าประสบการณ์ตอนไปเรียนทำเเว่นได้อย่างดี ,ทุกครั้งที่หันไปมอง Certificateในกรอบรูปที่ติดไว้เหนือโต๊ะทำงาน เรามักจะย้อนนึกถึงตั้งเเต่ตอนร่างอีเมล์ฉบับแรกถึงโรงเรียน ข้อความในนั้นมีแต่คำถามที่เต็มไปด้วยความอยากรู้อยากเห็นเรื่องเมืองเเว่นตา เพราะนอกจากเรื่องคอร์สเรียนเเล้ว ชื่อเมือง Morez นั้นเราก็ยังไม่รู้จักดีเลย ( มาทราบทีหลังว่าคนฝรั่งเศสก็ยังไม่ค่อยรู้จัก ) อีเมลล์ถูกตอบกลับไปมาหลายสิบฉบับ แต่ที่ติดตาและตกใจคือข้อความที่เขียนว่า “Never – you are the first couple !” หลังจากที่เราถามไปว่าเคยมีคนไทยหรือคนเอเชียไปเรียนที่นั่นบ้างรึเปล่า (เผื่อจะได้สอบถามข้อมูลได้บ้าง) ทางโรงเรียนเองก็ตกใจไม่แพ้กัน แต่ก็ได้เตรียม translator แปลภาษาแบบเรียลไทม์ให้เราสองคนฟังผ่านหูฟัง เพราะแน่นอนว่าอาจารย์ทุกคนพูดแต่ภาษาฝรั่งเศส
ย้อนนึกถึงตอนที่ได้ทำแว่นชิ้นเเรกด้วยวิธีเเบบmanualที่สุด , ตอนที่โดนเครื่องรูเตอร์เก่าๆ เหวี่ยงใส่จนมือเป็นแผล ตอนนั่งคุยกับครูอายุ 70 ว่าทำไมเขายังรักการทำแว่นจนถึงตอนนี้ ไปจนถึงตอนไปเยี่ยมชมโรงงานผลิตแว่นที่สืบทอดมา 4 ช่วงอายุคน และอีกหลายๆ เรื่องที่มันผุดขึ้นมา จากกระดาษแผ่นนี้แผ่นเดียว